วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร


                วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร บางลำภู กรุงเทพฯ แต่เดิมวัดนี้เป็นวัดใหม่อยุ่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส ต่อมาได้รวมเข้าเป็น วัดเดียวกัน โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขั้นใหม่ วัดนี้ ได้รับการทะนุบำรุง และสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้นจนเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง โดยเฉพาะในสมัย ปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนา สมเด็จพระ อนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุ อยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เสด็จมาครอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕ ทำให้วัดนี้ได้รับการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ และเสริมสร้างสิ่งต่างๆขึ้น
            เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชาคณะเสด็จประทับที่วัดนี้แล้วทรง บูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุต่างๆเพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง พร้อมทั้งได้รับพระราชทาน ตำหนักจากรัชกาลที่ ๓ ด้วย ในสมัยต่อมาวัดนี้ เป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรง ผนวชหลายพระองค์ เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน จึงทำให้วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุงให้คงสภาพดีอยู่เสมอ ในปัจจุบัน นี้ ศิลปกรรมโบราณวัตถุ และ ศิลปวัตถุ หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในสภาพดีพอที่จะชม และ ศึกษาได้ เป็นจำนวนไม่น้อย




           วัดบวรนิเวศวิหารนี้มีศิลปกรรม และถาวรวัตถุที่มีค่าควรแก่การศึกษาไม่น้อย แบ่งออกเป็น ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสและศิลปกรรมในเขตสังฆวาส เขตทั้งสองนี้ถูกแบ่งโดย กำแพง และ คูน้ำมีสะพานเชื่อมถึงกันเดินข้ามไปมาได้สะดวก ศิลปกรรมที่สำคัญ ของวัดนี้ที่น่า สนใจ มีดังนี้
ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสที่สำคัญเริ่มจากพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สร้างวัดในรัชกาลที่ ๓ แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมต่อมาอีกหลายครั้ง รูปแบบของพระอุโบสถ ที่สร้างตามแบบ พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีมุขหน้ายื่นออกมา เป็นพระอุโบสถและมีปีกยื่นออก ซ้ายขวา เป็นวิหารมุขหน้าที่เป็นพระอุโบสถมีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประต?หน้าต่าง และ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะในสมัย รัชกาลที่ ๔ โดย โปรดฯ ให้มุงกระเบื้องเคลือบลูกฟูก ประดับ ลายหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบสี และโปรดฯให้ ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถ ส่วนภายนอกได้รับการบูรณะ บุผนัง ด้วยหินอ่อนทั้งหมด เสาด้านหน้าเป็นเสาเหลื่ยมมีบัวหัวเสาเป็นลายฝรั่ง ซุ้มประตูหน้าต่างปิด ทองประดับกระจก ด้านหน้ามีใบเสมารุ่นเก่าสมัยอู่ทองทำด้วยหินทรายแดงนำมาจากวัดวังเก่า เพชรบุรี ส่วนใบเสมาอื่นทำแปลกคือติดไว้กับผนังพระอุโบสถแทน การตั้งไว้บนลานรอบ พระอุโบสถ หลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์กลทสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมาได้หุ้มกระเบื้องสีทอง ใน รัชกาลปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้มีรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากพระอุโบสถทั่วไป เพราะเป็นการผสมกันระหว่างศิลปะแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งกระเดียดไปทาง ศิลปะจึนและศิลปะแบบรัชกาล ที่ ๔ ซึ่งเป็นศิลปะที่มีอิทธิพลฝรั่ง จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้ีมีลักษณะผสมของอิทธิพลศิลปะต่างชาติทั้งสองแบบ แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของศิลปะ ไทย เมื่อโดยรวมแล้วพระอุโบสถหลังนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่งดงามแปลกตาไม่น้อยทีเดียว ศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ นอกเหนือไปจากพระพุทธรูปแล้วก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ขรัวอินโข่งเขียนขึ้น เป็นงานจิตรกรรม ฝาผนัง ที่มีค่ายิ่ง เพราะเป็นรูปแบบของ จิตรกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อของการรับอิทธิพลยุโรป หรือ ฝรั่งเข้า มาผสมผสานกับแนวคิดตามขนบนิยมของไทย ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ สันนิษฐานว่าเขียน ตั้งแต่สมัยที่ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯเข้าครองวัด โดยเขียนบนผนังเหนือ ประตูหน้าต่าง ขึ้นไป มีอยู่ ๑๖ ตอน เริ่มต้นจากทางหลังของผนังด้านซ้ายทางทิศตะวันตก นับเป็น ผนังที่ ๑ วนทักษิณาวัตพระพุทธรูปในพระอุโบสถตามลำดับ มีคำจารึก พรรณาเขียน ไว้ที่ช่องประตู หน้าต่างรวม ๑๖ บาน



          นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วที่เสาพระอุโบสถเขียนภาพแสดงปริศนาธรรมเปรียบด้วย น้ำใจคน ๖ ประเภทเรียกว่า ฉฬาภิชาติ ด้วย ภายในพระอุโบสถนี้ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อ โลหะขนาดใหญ่หน้าพระเพลากว้าง ๙ ศอก ๑๒ นิ้ว กรมพระราชวังบวรฯ ผู้สร้างวัดได้ทรง อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน เพชรบุรี โดยรื้อออกเป็น ท่อนๆ แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระทวาราวดี พระศกเดิมโต พระยาชำนิหัตถการ นายช่างกรม พระราชวังบวรฯ เลาะออกทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง ลงรักปิดทองมีพระสาวกใหญ่ นั่งคู่หนึ่งเป็นพระปั้นหน้าตัก ๒ ศอก




          ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งคือ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตน มหาธาตุ พิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์เมื่อฤดูน้ำปี พ.ศ.๒๓๗๓ และ ในปีต่อมาได้ปิดทอง กาไหล่ พระรัศมี ฝังพระเนตรใหม่ และตัดพระอุณาโลม พระพุทธรูปองค์ นี้ เป็นพระพุทธรูป ที่งดงามอย่างยิ่ง องค์หนึ่ง ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นเจดีย์กลม ขนาดใหญ่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๔ หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน หลังเจดีย์ออกไปเป็นวิหารเก๋งจีน ข้างในมีภาพเขียน ฝีมือช่างจีน เทคนิค และฝีมืออยู่ในเกณฑ์ดี



          ถัดเก๋งจีนเป็น วิหารพระศาสดา เป็นวิหารใหญ่แบ่งเป็น ๒ ห้อง ด้านหลัง เป็นพระพุทธไสยาสน์ สมัยสุโขทัย ฝาผนังมีจิตรกรรมเรื่องพระพุทธประวัติและชาดก ด้านหน้าประดิษฐานพระศาสดา รัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้อัญเชิญมาจากวัดสุทัศน์เทพวราราม          ในบริเวณพุทธาวาสนั้นมีศิลปกรรมน่าสนใจอีกหลายอย่างเช่น พระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็น พระ พุทธบาทโบราณสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในศาลาข้าง พระอุโบสถพลับพลา เปลื้อง เครื่อง สร้างเป็นเครื่องแสดงว่าวัด นี้รับพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตรา ที่พระเจ้าแผ่นดิน เสด็จ เปลื้องเครื่องทรงในศาลานี้ก่อนเสด็จเข้าวัด
          นอกจากนี้ที่ซุ้มประตูด้านหน้าพระอุโบสถบานประตูมีรูปเซี่ยวกาง แกะสลักปิดทอง เป็นฝีมือ ช่างงดงามทีเดียว



          ตำหนักจันทร์ เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจันทราสรัทธาวาส กรมขุน พิจิตเจษฐฃฏาจันทร์ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ในบริเวณตำหนักจันทร์ด้าน ทิศตะวันออกติดกับรั้วเหล็กมีศาลาเล็กๆ มีพาไล ๒ ด้าน ฝาล่องถุนก่ออิฐถือปูนโถงเป็นเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ศาลาหลังนี้เดิมเป็นพลับพลา ที่ ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง สร้างไว้ในสวนพระราชวังเดิม โปรดให้ย้ายมาปลูกไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ ในกลุ่มพระตำหนัก นี้ ยังมี พระตำหนักเพชร อีกตำหนักหนึ่งอยู่ขวามือเมื่อเข้าจากหน้าวัด เป็นตำหนัก สองชั้นแบบ ฝรั่ง มุขหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุงดงาม ตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างถวายเป็นท้องพระโรง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส อย่างไรก็ตามศิลปกรรมและถาวรวัตถุของวัดบวรนิเวศวิหารยังมีอีกหลายอย่างส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ ในสภาพดี

วัดอินทรวิหาร

วัดอินทรวิหาร


           วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายประมาณปี พ.ศ. 2295 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง อุโบสถแต่เดิมแบบเตาเผาปูน กุฏิฝากระแชงอ่อน เดิมชื่อ "วัดไร่พริก" เพราะเป็นวัดที่ปลูกอยู่ใกล้สวนผักของชาวจีน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบางขุนพรหม" ตามชื่อของหมู่บ้านซึ่งมีขุนพรหมเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน
           

            ต่อมา สมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าสิริบุญสารผู้ครองนครศรีสัตนาคนหุต ได้ยกกองทัพรุกรานมาถึงบ้านดอนมดแกง (จังหวัดอุบลราชธานี – ปัจจุบัน) ได้จับพระลอ ผู้ซึ่งสวามิภักดิ์ในพระบรมโพธิสมภาพของพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วทำการประหารเสีย มื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงขัดเคองพระทัย จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพพร้อมด้วยพระสุรสีห์กรีฑาทัพขึ้นไปปราบปรามและสามารถตีเมืองเวียงจันทน์แตก ส่วนพระเจ้าสิริบุญสารได้ลี้ภัยไปอาศัยในแดนญวน ภายหลังเสร็จศึกสคราม สมเด้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้นำตัวเจ้าอินทวงศ์ โอรสในพระเจ้าสิริยุญสารลงมากรุงธนบุรีด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวงศ์และคณะพำนักตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณตำบลไร่พริก (แขวงบางขุนพรหม – ปัจจุบัน) เจ้าอินทวงศ์มีศักดิ์เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียว เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ธิดาคนหนึ่งของเจ้าอินทวงศ์นามว่า เจ้าทองสุก กับเจ้าน้อยเขียว ได้เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
           

            ต่อมาเจ้าอินทวงศ์ได้มีศรัทธาดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงรูปทรงอุโบส ก่ออิฐถือปูนเป็นแบบที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และสร้างศาลาพร้อมกับขุดคลองเหนือใต้และด้านหลังวัด เมื่ออารามมีความมั่นคงดีแล้ว จึงอาราธนาท่านเจ้าคุณอรัญญิกเถร (ด้วง) ผู้เรืองในวิปัสสนาธุระและใจดีมาช่วยเป็นภาระธุระในกิจการของสงฆ์ และถือเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่มีหลักฐานปรากฏยืนยัน
           ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระองค์เจ้าอินทร์ ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งยังคงปรากฏมาจนปัจจุบัน ครั้นถึงแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนผ่านกลางวัดบางขุนพรหม วัดบางขุนพรหม จึงกลายเป็น 2 วัดคือวัดบางขุนพรหมนอก (วัดใหม่อมตรส – ปัจจุบัน) และวัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง – ปัจจุบัน) เนื่องจากอยู่ภายในเขตวังเทวะเวสม์ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ (จึงเรียกชื่อว่า "วัดบางขุนพรหมใน") 


พระศรีอริยเมตไตรย์ หรือ หลวงพ่อโต


พระครูธรรมานุกูล หรือ หลวงปู่ภู จันทสโร วัดอินทรวิหาร เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร

พระครูธรรมานุกูล นามเดิมชื่อว่า ภู เกิดที่หมู่บ้านตำบลวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดตาก ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ ตรงกับปีขาลโดยบิดามีนามว่า นายคง โยมมารดามีนามว่า นางอยู่ พออายุได้ ๙ขวบ บิดามารดาได้พาไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าคอย ได้ศึกษาเล่าเรียกอักขระสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทย กับท่านอาจารย์ วัดท่าแคจนกระทั่งอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ พัทธสีมา วัดท่าคอย โดยมี พระอาจารย์อ้น วัดท่าคอย เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มา วัดน้ำหัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายานามทางพระว่า "จนฺทสโร"
เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาอยู่ สำนักวัดท่าแคชั่วระยะหนึ่งก็ได้ออกเดินธุดงค์ จากจังหวัดตากมาพร้อมกับพระพี่ชาย คือ หลวงปู่ใหญ่
สำหรับวัดท่าแค ในสมัยที่หลวงปู่ภูจำพรรษาอยู่ นั้นยังเป็นวัดเล็กๆ เข้าใจว่าโบสถ์ยังไม่ได้สร้างท่านจึงได้มาอุปสมบท ที่วัดท่าคอยแล้วกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเดิมอีก ปัจจุบันวัดท่าแคนี้ตั้งอยู่ตรงเชิงสะพานกิตติขจรฝั่งตัวจังหวัดตากตำบล เชียงเงิน อำเภอเมือง ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงคราม
ในสมัยที่หลวงปู่ภูเดิมธุดงค์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก ท่านได้เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ได้มาปักกลดอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งวังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สมัยนั้นพื้นที่บริเวณนั้นยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าและเปลี่ยวมาก มีแต่ต้นรังต้นตาลที่ขึ้นระเกะระกะไปหมด นอกจากนี้ยังมีทางเกวียนทางเท้าเป็นช่องเล็กๆ พอเดินไปได้เท่านั้น ท่านได้มาปักกลดอยู่บริเวณชายแม่น้ำเจ้าพระยา พอตกกลางคืนได้นิมิตฝันไปว่า ได้มีคนนำเอาตราแผ่นดินมามอบถวายให้ท่าน ๓ ดวง เมื่อท่านตื่นขึ้นมาก็ได้พิจารณาถึงนิมิตนั้นพอจะทราบว่า ท่านเองจะมีอายุยืนยาวถึง ๑๐๓ ปีเศษ
การเดินธุดงค์ของหลวงปู่นับตั้งแต่เดินทางออกมาจากวัดท่าแคเข้าจำพรรษาที่วัดในกรุงเทพฯ สันนิษฐานจากคำบอกเล่าของท่านที่ได้เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศฯ ได้ช่วยชีวิตรักษาคนป่วย เป็นอหิวาตกโรคไว้ ๖ คนซึ่งยุคนั้นถือว่าอหิวาตกโรคร้ายแรงมาก ยังไม่มียาจะรักษาถ้าใครเป็นมีหวังตายลูกเดียว และในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นปีที่อหิวาตกโรคระบาดหนัก จนเป็นที่กล่าวขวัญเรียกกันจนติดปากว่า "ปีระกาห่าใหญ่"
ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดสามปลื้ม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดจักรวรรดิ์ราชาวาสและได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ วัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ตามลำดับ
กาลต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทาราม ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้ชื่อวัดบางขุนพรหมนอก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ส่วนสมณศักดิ์ที่หลวงปู่ได้รับไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับตำแหน่งในปีใด เข้าใจว่าได้รับก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพราะตามหลักฐาน ศิลาจารึกเกี่ยวกับการสร้าง พระศรีอริยเมตไตรย์ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านพระครูธรรมานุกูล (ภู) ผู้ชราภาพอายุ ๙๑ ปี พรรษาที่ ๗๐ ได้ยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ท่านจึงได้มอบฉันทะ ให้พระครูสังฆบริบาล ปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ
ท่านได้มรณภาพลงเมื่อ วันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๖ ปีระกา เวลา ๐๑.๑๕ น. รวมสิริอายุได้ ๑๐๔ ปี ๘๓ พรรษา นับว่าท่านได้ยกเป็นพระครูกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ จนถึงวันมรณภาพเป็นเวลา ๑๓ ปี

วัดสามพระยา

วัดสามพระยา


                            วัดสามพระยาเดิมเป็นวัดราษฎร์ เรียกว่าวัดสักบ้าง วัดบางขุนพรหมบ้าง สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้มีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะมาโดยลำดับ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีสามพระยาพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันคือ พระยาราชภักดี บ้านอยู่ริมแม่น้ำใต้วัด ๑ พระยาเทพอรชุน ต้นสกุลสุนทรชุน (ปู่เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร ชุม สุนทราชุน) บ้านอยู่ใกล้กับพระยาราชภักดีตรงที่เป็นบ้านเก่าของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ตำบลบางขุนพรหม ๑ พระยาราชวรานุกูล บ้านอยู่ตำบลบ้านบาตร ๑ และยังมีพระพิพิธโภคัย (ต่อมาเป็นพระยาเกษตรรักษา บุญชู) ได้ร่วมกันก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งอารามในราวปี พ.ศ. ๒๓๘๗

                ในการบูรณปฏิสังขรณ์นี้ สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับพระบรมราชานุมัติ หรือโดยพระบรมราชานุญาต เพราะปรากฏว่า ได้มีการขยายขอบเขตของวัดกินที่บ้านเรือนของราษฎรทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก คือทางด้านทิศตะวันออกขยายจากแนวข้างวิหารบัดนี้ออกไปถึงคูวัด (โรงเรียนตึกสุหัทรังสรรค์) ทางด้านทิศตะวันตกขยายจากแนวมุขตะวันออกของศาลาการเปรียญบัดนี้ จนจดแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จสมบูรณ์แล้ว ต่อมาท่านพระยาทั้งสามที่ได้กล่าวนานมาแล้วนั้น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นวัดหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดสามพระยาวรวิหาร”



                นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับวัดสามพระยาวรวิหารเป็นอารามหลวงแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสนาสนะในวัดเพิ่มขึ้นดังปรากฏในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างกุฏีไม้ถวายพระนิโรธรังษีวัดสามพระยา (ดังเอกสารหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๓ สมุดไทยดำ เลขที่ ๖ มัดที่ ๗  ตู้ ๑๘๘ ชั้น ๑/๑)

                ครั้นกาลต่อมาในสมัยพระธรรมสมาจาร (ศิลา ร.๕ พ.ศ. ๒๔๓๓) และพระเทพเมธี (ครุฑ พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๖) เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระเกษตรรักษา (บุญชู) น้องชายท่านพระยาทั้งสาม ได้สร้างเสนาสนะเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างและได้บูรณปฏิสังขรณ์โดยทั่วไป ดังมีหลักฐานดังนี้ คือ
                นายนุช บุตรพระยาเกษตรรักษา (บุญชู) ได้ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ
                นายสด ได้สร้างหอสวดมนตร์ขึ้นหลังหนึ่ง
                หลวงวิจารณ์ (ด้วง) ได้สร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์
                นางจันทร์ภรรยาหลวงวิจารณ์ ได้สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์
                พระโยธาธิราชและนางโยธาธิราช ได้สร้างพระปรางค์คู่

                นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าใน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระเทพเมธี ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวีได้ปฏิสังขรณ์กุฎี ๑ หลัง ๖ ห้อง และได้ว่าจ้างคนให้ถางหญ้าในวัด และได้ขอพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


                ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ หลวงศรีภักดี (ยิ้ม ศรีหงส์) พร้อมด้วยบรรดาผู้บริจาคทรัพย์ เช่น พระยาราช-ไชยสวริยาธิบดีหม่อมสุน ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์ ได้จัดการสร้างถนนในวัด
สามพระยา ๑ สาย กว้าง ๑ วา ยาว ๕ เส้น และได้ขอพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว


                ครั้นกาลต่อมาในสมัยพระธรรมดิลก (ขาว เขมโก พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๘๐) เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ดังนี้ คือ
                     พระเทพมุนี พร้อมด้วยทายกทายิกา ปฏิสังขรณ์วิหารเก่าทั้งหลัง และหอระฆัง
                     นางสาวเจียม (ป้า) นางเลื่อน (หลาน) ได้สร้างหลังคาพระไสยาสน์มีรั้วรอบ และสร้างหลังคา
                     พระป่าเลไลยก์
                     พระยาอมเรศร์สมบัติ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๑ หลัง
                     คุณหญิงอนันตนิธิกร (น้อม วรรธโนทัย) ถวายเรือนหนึ่งหลังเป็นโรงเรียนตอนหนึ่ง เป็นที่พักของภิกษุสามเณรตอนหนึ่ง
                     นางแส สร้างห้องน้ำ ๑ หลัง
                     พระเทพราชแสนยา (แม้น บุณยเกศานนท์) สร้างกุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     พระเทพมุนี สร้างกุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     พระครูวินัยธร (รศ) ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     นางศรีราชสงคราม ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     พระเทพราชแสนยา (แม้น บุณยเกศานนท์) ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งศาลาขวาง
                     นายจ่าง ปฏิสังขรณ์ศาลาดิน ๑ หลัง
                     นายอ่วม ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ๒ หลัง
                     พระเทพราแสนยา (แม้น บุณยเกศานนท์) สร้างเจดีย์ ๑ องค์





วัดหัวลำโพง

 วัดหัวลำโพง


                   วัดหัวลำโพง ตั้งอยู่เลขที่๗๒๘ ถนนพระราม๔ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อวัดวัวลำพอง เป็นวัดราษฎร์ ใครเป็นคนสร้างและสร้างเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่คาดว่าคงสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทั้งนี้โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่าและเจดีย์ด้านหลัง ซึ่งสร้างคู่กันมา
                  ความเป็นมาของวัดนี้ มีผู้รู้ประมวลไว้ โดยอาศัยจากการเล่าต่อๆ กันมาว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายเผาผลาญบ้านเมือง ตลอดวัดวาอารามจนในที่สุดได้เสียกรุงแก่ข้าศึก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นการเสียกรุงครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ การสงครามครั้งนี้ประชาชนเสียขวัญและได้รับความเดือดร้อน บางพวกไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ถิ่นเดิมต่อไปได้ จึงพากันอพยพครอบครัว ลงมาทางใต้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณวัดหัวลำโพงในปัจจุบันนี้เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะ ยังไม่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ มีลำคลองเชื่อมโยงสะดวกต่อการสัญจรไปมา จึงได้ตั้งหลักฐานและจับจองที่ดิน นานปีเข้าต่างก็มีหลักฐานมั่นคงเป็นปึกแผ่นทั่วกัน


                  ต่อมาจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นตามวิสัยอันดีงามเช่น บรรพบุรุษชาวพุทธทั้งหลาย และให้ชื่อว่า วัดวัวลำพอง ตามความนิยมที่ชื่อของวัดจะพ้องกับชื่อหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านกับวัดส่วนใหญ่ของไทยเรา มักมีชื่อเหมือนกัน หรือมีความหมายเดียวกัน
                   ปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หรือที่ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันขนานพระนามพระองค์ท่านว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งเป็นยุคทองของการพัฒนาประเทศชาติในระบบใหม่ ได้ทรงสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือจากสถานีกรุงเทพฯ ขึ้นไปบริเวณนอกเมืองใกล้กับคูเมืองชั้นนอกคือคลองผดุงเกษม พระราชทานนามว่า สถานีหัวลำโพง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดวัวลำพอง ประมาณ ๒ กิโลเมตร


                    ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ราวเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูกาลทอดกฐิน จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระกฐินในครั้งนั้น วันเดียวกันถึง ๓ วัด ตามลำดับดังนี้ คือ วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) และวัดวัวลำพอง (วัดหัวลำโพง)
ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดวัวลำพองนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาธุระที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งในครั้งนั้น เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูญาณมุนี นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
นับแต่นั้นมาด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ไทย อันมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงวางรากฐานความเป็นมิ่งมงคล และทรงประกอบคุณงามความดีตามหลักพรหมวิหารให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา จึงต่างก็ได้ร่วมกันทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา สร้างถาวรวัตถุให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์ท่าน
                     วัดหัวลำโพง อันเป็นนามพระราชทาน เป็นนามมิ่งมงคลก็ประสบความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุเดิมเพิ่มเติมถาวรวัตถุใหม่ ให้เป็นศรีสง่าแก่พระศาสนา
วัดหัวลำโพง มีที่ดินประมาณ ๒๐ ไร่ ซึ่งในระยะแรกมีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ต่อมานายท้วม พุ่มแก้ว ซึ่งมีที่ดินติดกับเขตวัดด้านถนนพระราม ๔ ถวายที่ดินส่วนนั้นให้แก่วัด ประมาณ ๖ ไร่ และนางสาวลออ หลิมเซ่งไถ่ ได้ถวายพินัยกรรมเป็นที่ดินอีกจำนวน ๗ ไร่ ๑ งาน ๘๘ ตารางวา (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ) ปัจจุบันวัดหัวลำโพงมีที่ดินตั้งวัดและที่ธรณีสงฆ์ คือโฉนดเลขที่ ๓๑๗๓๔ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๘๘ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๓๒๗ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๘๘ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๙๗๓ เนื้อที่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๔๑๙ เนื้อที่ ๒ งาน ๗๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๙๗๒ เนื้อที่ ๙๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๑๒๓ เนื้อที่ ๖๙ ตารางวา
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ วัดหัวลำโพงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกฐานะวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ



ทำบุญไถ่ชีวิตโค กระบือ ถวายอาหาร


ทำบุญบริจาคโรงศไร้ญาติ

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร


ประวัติความเป็นมา
    วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2322 โดยโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ 7 คืน 7 วัน (ในปี พ.ศ. 2327 พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนไปนครเวียงจันทน์) 

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้งแต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ. 2352 เสียก่อน ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. 2363 แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม" 

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 37 วา และให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูลซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2394

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า"วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

    ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงินที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่าด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนทวีธาภิเศก" นอกจากนั้นยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม 3 งานพร้อมกันเป็นเวลา 9 วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ในวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2510 และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้



   พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม หากเดินทางโดยทางเรือ เมื่อถึงท่าหน้าวัดเดินเข้ามานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลี้ยวซ้ายก่อนเพื่อเดินมาชมพระปรางค์เก่าแก่ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๓๗ วา 


เป็นพระปรางค์ที่ได้รับการบันทึกในกินเนสบุคว่าเป็นพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก



     พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร  ปูชนียสถานสำคัญของวัดอรุณราชวรารามอีกหลังหนึ่งคือพระวิหาร เป็นอาคารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันมีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีน ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารนี้เป็นการเปรียญของวัดด้วย

 พระประธานในพระวิหาร คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์ บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร  ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระชุมภูนุท มีพระอรุณหรือพระแจ้งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองหล่อด้วยทองต่างสีกัน หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชดำริว่านามพระพุทธรูปพ้องกันกับวัดอรุณ จึงโปรดให้อัญเชิญมา ณ วิหารนี้  และที่แท่นหน้าพระอรุณในพระวิหาร มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ประดิษฐานอยู่ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ศาลาการเปรียญที่รื้อไปแล้ว มีปูนพอกทั้งองค์โดยไม่มีใครทราบ ภายหลังปูนกระเทาะตัวออกจึงเห็นองค์พระเป็นสำริดสมัยสุโขทัย ทางวัดจึงอัญเชิญมาประดิษฐานในวัดแห่งนี้ หากเดินทางโดยเรือเดินเข้าประตูวัดพระวิหารจะอยู่ด้านซ้ายมือหลังพระปราง


        พระพุทธรูปในวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วิหารนี้สร้างเป็น 2 หลัง ลักษณะรูปแบบการก่อสร้างเหมือนกัน อยู่ตรงทางเข้าพระปรางค์ด้านทิศตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปแบ่งด้วยฉากกั้น




















วัดระฆังโฆสิตาราม


วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร


      พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการ ยกย่องว่างดงามมาก 

     
         พระพุทธรูปพระประธานวัดระฆังฯองค์นี้  มี "ตำนาน" สำคัญที่เล่าขานกันมาอยู่ว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม  มีพระราชดำรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังฯ พอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที"  กับทั้งยังได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธาน เป็นเครื่องหมายแห่งความพอพระราชหฤทัยพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีนามเฉพาะ แต่สืบเนื่องจากเรื่องราวดังกล่าวก็ทำให้มีผู้ขนานนามว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า"
        วัดระฆังฯเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  เดิมชื่อวัดบางว้าใหญ่หรือบางหว้าใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปฏิัสังขรณ์และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงด้วยอยู่ใกล้กับพระราชวัง (คือพระราชวังเดิมปัจจุบัน) ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี(สา) พระเชษฐภคินี(พี่สาว) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ในครั้งนั้นได้ขุดพบระฆังใบหนึ่งมีเสียงไพเราะมาก  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงขอไปไว้ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังมาชดเชยให้ ๕ ใบ ด้วยเหตุนี้จึงพระราชทานชื่อวัดว่า วัดระฆังโฆสิตาราม  วัดระฆังนับเป็นวัดที่มีความสำคัญสืบเนื่องจากกรุงธนบุรีมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประชวรใกล้เสด็จสวรรคต มีพระราชดำรัสสั่งให้นำพระเศวตรฉัตรที่กั้นพระบรมโกศไปถวายพระประธานวัดระฆัง
        แต่พระประธานองค์ที่ได้รับพระราชทานพระเศวตรฉัตรนั้นเป็นคนละองค์กับพระประธานยิ้มรับฟ้าองค์ปัจจุบัน  เดิมพระประธานของวัดระฆังฯเป็นพระพุทธรูปศิลาองค์เล็ก เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดระฆังครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ประดิษฐานพระประธานองค์ใหม่  แล้วโปรดให้นำพระเศวตรฉัตรที่กั้นพระประธานในพระอุโบสถเก่ามากั้นถวายพระประธานองค์ใหม่ด้วย  ส่วนพระประธานองค์เก่าภายหลังได้มีการพอกปูนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นขึ้น ประดิษฐานไว้ในพระวิหารก็คือพระอุโบสถหลังเดิม



       พระปรางค์องค์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วม  กุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา) ตั้งอยู่หน้าพระวิหาร ได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ว่า เป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบที่สุดในประเทศไทย พระปรางค์องค์นี้จัดเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่มีทรวดทรงงดงามมาก จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา





วิหารสมเด็จ ซึ่งมีรูปหล่อของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระราชาคณะอีกสองรูปประดิษฐานอยู่