วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร


ประวัติความเป็นมา
    วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2322 โดยโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ 7 คืน 7 วัน (ในปี พ.ศ. 2327 พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนไปนครเวียงจันทน์) 

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้งแต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ. 2352 เสียก่อน ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. 2363 แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม" 

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 37 วา และให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูลซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2394

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า"วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

    ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงินที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่าด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนทวีธาภิเศก" นอกจากนั้นยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม 3 งานพร้อมกันเป็นเวลา 9 วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ในวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2510 และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้



   พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม หากเดินทางโดยทางเรือ เมื่อถึงท่าหน้าวัดเดินเข้ามานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลี้ยวซ้ายก่อนเพื่อเดินมาชมพระปรางค์เก่าแก่ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๓๗ วา 


เป็นพระปรางค์ที่ได้รับการบันทึกในกินเนสบุคว่าเป็นพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก



     พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร  ปูชนียสถานสำคัญของวัดอรุณราชวรารามอีกหลังหนึ่งคือพระวิหาร เป็นอาคารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันมีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีน ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารนี้เป็นการเปรียญของวัดด้วย

 พระประธานในพระวิหาร คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์ บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร  ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระชุมภูนุท มีพระอรุณหรือพระแจ้งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองหล่อด้วยทองต่างสีกัน หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชดำริว่านามพระพุทธรูปพ้องกันกับวัดอรุณ จึงโปรดให้อัญเชิญมา ณ วิหารนี้  และที่แท่นหน้าพระอรุณในพระวิหาร มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ประดิษฐานอยู่ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ศาลาการเปรียญที่รื้อไปแล้ว มีปูนพอกทั้งองค์โดยไม่มีใครทราบ ภายหลังปูนกระเทาะตัวออกจึงเห็นองค์พระเป็นสำริดสมัยสุโขทัย ทางวัดจึงอัญเชิญมาประดิษฐานในวัดแห่งนี้ หากเดินทางโดยเรือเดินเข้าประตูวัดพระวิหารจะอยู่ด้านซ้ายมือหลังพระปราง


        พระพุทธรูปในวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วิหารนี้สร้างเป็น 2 หลัง ลักษณะรูปแบบการก่อสร้างเหมือนกัน อยู่ตรงทางเข้าพระปรางค์ด้านทิศตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปแบ่งด้วยฉากกั้น




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น