วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

วัดสามพระยา

วัดสามพระยา


                            วัดสามพระยาเดิมเป็นวัดราษฎร์ เรียกว่าวัดสักบ้าง วัดบางขุนพรหมบ้าง สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้มีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะมาโดยลำดับ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีสามพระยาพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันคือ พระยาราชภักดี บ้านอยู่ริมแม่น้ำใต้วัด ๑ พระยาเทพอรชุน ต้นสกุลสุนทรชุน (ปู่เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร ชุม สุนทราชุน) บ้านอยู่ใกล้กับพระยาราชภักดีตรงที่เป็นบ้านเก่าของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ตำบลบางขุนพรหม ๑ พระยาราชวรานุกูล บ้านอยู่ตำบลบ้านบาตร ๑ และยังมีพระพิพิธโภคัย (ต่อมาเป็นพระยาเกษตรรักษา บุญชู) ได้ร่วมกันก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งอารามในราวปี พ.ศ. ๒๓๘๗

                ในการบูรณปฏิสังขรณ์นี้ สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับพระบรมราชานุมัติ หรือโดยพระบรมราชานุญาต เพราะปรากฏว่า ได้มีการขยายขอบเขตของวัดกินที่บ้านเรือนของราษฎรทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก คือทางด้านทิศตะวันออกขยายจากแนวข้างวิหารบัดนี้ออกไปถึงคูวัด (โรงเรียนตึกสุหัทรังสรรค์) ทางด้านทิศตะวันตกขยายจากแนวมุขตะวันออกของศาลาการเปรียญบัดนี้ จนจดแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จสมบูรณ์แล้ว ต่อมาท่านพระยาทั้งสามที่ได้กล่าวนานมาแล้วนั้น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นวัดหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดสามพระยาวรวิหาร”



                นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับวัดสามพระยาวรวิหารเป็นอารามหลวงแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสนาสนะในวัดเพิ่มขึ้นดังปรากฏในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างกุฏีไม้ถวายพระนิโรธรังษีวัดสามพระยา (ดังเอกสารหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๓ สมุดไทยดำ เลขที่ ๖ มัดที่ ๗  ตู้ ๑๘๘ ชั้น ๑/๑)

                ครั้นกาลต่อมาในสมัยพระธรรมสมาจาร (ศิลา ร.๕ พ.ศ. ๒๔๓๓) และพระเทพเมธี (ครุฑ พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๖) เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระเกษตรรักษา (บุญชู) น้องชายท่านพระยาทั้งสาม ได้สร้างเสนาสนะเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างและได้บูรณปฏิสังขรณ์โดยทั่วไป ดังมีหลักฐานดังนี้ คือ
                นายนุช บุตรพระยาเกษตรรักษา (บุญชู) ได้ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ
                นายสด ได้สร้างหอสวดมนตร์ขึ้นหลังหนึ่ง
                หลวงวิจารณ์ (ด้วง) ได้สร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์
                นางจันทร์ภรรยาหลวงวิจารณ์ ได้สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์
                พระโยธาธิราชและนางโยธาธิราช ได้สร้างพระปรางค์คู่

                นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าใน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระเทพเมธี ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวีได้ปฏิสังขรณ์กุฎี ๑ หลัง ๖ ห้อง และได้ว่าจ้างคนให้ถางหญ้าในวัด และได้ขอพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


                ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ หลวงศรีภักดี (ยิ้ม ศรีหงส์) พร้อมด้วยบรรดาผู้บริจาคทรัพย์ เช่น พระยาราช-ไชยสวริยาธิบดีหม่อมสุน ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์ ได้จัดการสร้างถนนในวัด
สามพระยา ๑ สาย กว้าง ๑ วา ยาว ๕ เส้น และได้ขอพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว


                ครั้นกาลต่อมาในสมัยพระธรรมดิลก (ขาว เขมโก พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๘๐) เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ดังนี้ คือ
                     พระเทพมุนี พร้อมด้วยทายกทายิกา ปฏิสังขรณ์วิหารเก่าทั้งหลัง และหอระฆัง
                     นางสาวเจียม (ป้า) นางเลื่อน (หลาน) ได้สร้างหลังคาพระไสยาสน์มีรั้วรอบ และสร้างหลังคา
                     พระป่าเลไลยก์
                     พระยาอมเรศร์สมบัติ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๑ หลัง
                     คุณหญิงอนันตนิธิกร (น้อม วรรธโนทัย) ถวายเรือนหนึ่งหลังเป็นโรงเรียนตอนหนึ่ง เป็นที่พักของภิกษุสามเณรตอนหนึ่ง
                     นางแส สร้างห้องน้ำ ๑ หลัง
                     พระเทพราชแสนยา (แม้น บุณยเกศานนท์) สร้างกุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     พระเทพมุนี สร้างกุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     พระครูวินัยธร (รศ) ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     นางศรีราชสงคราม ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ๑ หลัง
                     พระเทพราชแสนยา (แม้น บุณยเกศานนท์) ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งศาลาขวาง
                     นายจ่าง ปฏิสังขรณ์ศาลาดิน ๑ หลัง
                     นายอ่วม ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ๒ หลัง
                     พระเทพราแสนยา (แม้น บุณยเกศานนท์) สร้างเจดีย์ ๑ องค์





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น